วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ดร.บุญเฮียง พรมดอนกลอย


         วันนี้ผมจะพาท่านผู้ชมได้รู้จักนักวิจัยท่านหนึ่ง ซึ่งท่านมีชีวิตในวัยเด็กอย่างยากไร้ขัดสน จนความพยายามและความชอบทำให้ท่านผู้นี้ประสบผลสำเร็จจนได้เป็นนักวิจัยของประเทศ ดอกเตอร์ท่านนี้เป็นคนจังหวัดบุรีรัมย์ อ.ลำปลายมาศ ครับ ท่านเป็นเพื่อนของพ่อผมเอง และผมมีโอกาสได้สนทนากับท่านมาหลายครั้ง โชคดีที่ผมได้คุยกับบุคลากรของประเทศหลายท่าน .... ถ้าอยากรู้ประวัติของดอกเตอร์อมตะท่านนี้....ก็ไปชมประวัติของท่านกันเลยครับ

                                              ดร.บุญเฮียง พรมดอนกลอย




      ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยวิศวกรรมจุลินทรีย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์กับสังคมไม่น้อย เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาเขาได้เสนอหนทางปราบ ยุง ด้วยเทคนิคตัดต่อพันธุกรรมแบคทีเรียให้ผลิตโปรตีนที่ฆ่ายุงได้อย่างจำเพาะเจาะจง และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยนำโปรตีนไปให้ลูกน้ำกินซึ่งจะทำให้ตายภายใน 2-3 วัน วิธีดังกล่าวกำจัดยุงได้ผลดีกว่าไล่ฆ่ายุงที่บินได้แล้วซึ่งควบคุมได้ลำบากกว่าตอนเป็นลูกน้ำ และเขาก็มีผลงานตีพิมพ์วารสารวิชาการนานาชาติแล้วถึง 12 ผลงาน
        ปัจจุบันนอกจากเป็นนักวิจัยของไบโอเทค เขายังเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษของสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกทั้งเป็นอาจารย์พิเศษวิชาเทคโนโลยีชีวภาพของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าด้วย และเมื่อเร็วๆ นี้วิทยานิพนธ์เมื่อครั้งศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University)เรื่องอณูชีววิทยาของโปรตีนสารพิษจากแบคทีเรีย ก็เพิ่งได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
       
 
 สตาร์วอร์ความฝันก้าวแรกสู่เส้นทางนักวิทย์
       ด้วยผลงานและหน้าที่อันมากมายแต่ใครจะล่วงรู้ว่า ดร.บุญเฮียงในวัยเยาว์ได้แรงบันดาลจาก สตาร์วอร์ อภิมหากาพย์ภาพยนตร์ซึ่งทำให้เขาใฝ่ฝันที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์เขาเล่าว่าในวัยเด็กใฝ่ฝันที่จะได้ท่องอวกาศเหมือนในภาพยนตร์ ซึ่งได้กลายเป็นแรงผลักอันดับแรกให้เขาตั้งเป้าที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งเขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากประสบการณ์ที่เข้ามาจึงทำให้เขากลายเป็นนักวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพอย่างที่เป็นอยู่นี้
       

  
ตอนนั้นอยากไปอวกาศแค่นั้นแหละ เห็นเขาใช้ดาบเลเซอร์ก็อยากใช้บ้าง สมัยเป็นเด็กผมมีดาบเลเซอร์เต็มบ้าน เห็นเขาขึ้นยานอวกาศไปนั่นไปนี่ได้ก็อยากไปบ้าง แต่พอขึ้นมัธยมความคิดก็เปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่งเพราะเราเริ่มรู้อะไรมากขึ้น พอเรียนปริญญาตรีก็รู้อีกระดับความคิดก็เปลี่ยนไป ถึงปริญญาเอกก็เป็นความรู้อีกระดับ และมาทำงานด้วยสภาวะที่เป็นอยู่ความคิดก็เปลี่ยนไปอีกระดับ

       
บวชเรียนเพราะทางบ้านยากจน แต่ไม่ทิ้งความสนใจวิทย์
       ดร.บุญเฮียงเล่าว่าด้วยความจำเป็นที่ทางบ้านยากจนไม่สามารถส่งเสียให้เรียนได้เนื่องจากฐานะค่อนข้างลำบาก หลังจบชั้นประถมแล้วเขาจึงต้องหยุดเรียน 1 ปีเพื่อช่วยครอบครัวทำนา ก่อนที่จะบวชเรียนเป็นสามเณรและสอบเทียบวุฒิ ม.3 เขากล่าวว่าช่วงบวชเป็นสามเณรไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์เลยแต่ก็ไม่มีผลกระทบอะไรมากนักเพราะเขาสนใจที่ศึกษาค้นคว้าเองมากกว่า และด้วยความที่สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าทางธรรมจึงได้ลาสิกขา แล้วเรียนต่อ ม.ปลายที่โรงเรียนลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์



    "เรียนสามเณรก็ไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์เลย สอบเทียบวุฒิการศึกษานอกโรงเรียนแล้วมาเรียนเอาตอน ม.ปลาย ผมเรียนในห้องผมไม่ค่อยได้อะไร ผมได้จากการอ่านเองมากกว่า ช่วง ม.4-5-6 ผมอ่านหนังสือจบก่อนครูสอน ผมเรียนเพราะผมอยากรู้ ผมไม่ได้เรียนเพื่อสอบ ผมไม่สนว่าวันไหนสอบวิชาอะไร ผมสนแค่ว่าวันนี้ผมอยากรู้เรื่องอะไรผมก็อ่านเรื่องนั้น บางวันจะสอบภาษาอังกฤษ ผมยังอ่านฟิสิกส์ เคมีอยู่เลย ถ้าเราเรียนตามใจเราจะมีความสุข และจำไปตลอดชีวิต ในขณะที่เรียนเพื่อสอบ 3 วันก็ลืม

            อย่างสูตรของนิวตัน F=ma เป็นสูตรที่ผมประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าเรารู้หลักการว่าเป็นมาอย่างไร ฟิสิกส์ ม.4 ไม่ต้องทำอะไรเลย ท่องสูตรเดียวนี้จบ แต่ข้อเสียของระบบการศึกษาไทยคือสอนตามสูตร ไม่ได้สอนว่ามีความเป็นมาอย่างไร หลักการอย่างไร สอนแต่ท่องสูตร โจทย์อย่างนั้นต้องทำอย่างนี้ ผลคือเด็กทำคะแนนได้ดีและสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ อันนั้นผมไม่เถียง แต่ว่าใจเขาได้หรือเปล่า ใจเขารักที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์จริงหรือเปล่า ผมอยากให้คนรุ่นใหม่เรียนด้วยใจชอบ
     
                             

     ม้ขัดสนแต่ไม่จนหนทางใฝ่รู้
       แม้จะทางบ้านจะขัดสนในเรื่องเงินทอง แต่ ดร.บุญเฮียงก็ไม่ได้ขาดความกระตือรือร้นที่จะใฝ่หาความรู้ เขาเล่าว่าเมื่อครั้งเรียนประถมญาติซึ่งทำงานเป็นแม่บ้านของผู้มีอันจะกินในเมืองหลวง ก็มักจะขนนิตยสารต่างๆ ที่เจ้าของบ้านไม่ต้องการแล้วกลับมาให้เสมอๆ เขาก็อาศัยเก็บรวบรวมความรู้รอบตัวจากตรงนั้น และจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ก็ตามญาติอีกคนที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่งซึ่งมีความเพียรน้อยกว่าเขามาก ก็ใช้ให้ ดร.บุญเฮียงอ่านตำราเรียนเพื่อญาติคนนั้นจะได้นอนฟัง เหล่านี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความใฝ่รู้ของนักวิจัยแห่งไบโอเทคคนนี้
       
       ด้วยความสนใจและใฝ่รู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เขาจึงสอบรับทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ในระดับปริญญาตรี-โท และโดยพื้นเพเขาจึงต้องเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังเรียนจบก็ได้เข้าทำงานที่ไบโอเทค ก่อนที่จะรับทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพ.ศ.2539 ไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 3 ปี

       
      
   


แม้ได้ฝันจาก สตาร์วอร์แต่มองเป็นเพียงความเพ้อฝัน
       แม้ว่าจะได้แรงบันดาลใจจากสตาร์วอร์สแต่ ดร.บุญเฮียงมองว่าความใฝ่ฝันวัยเด็กกับปัจจุบันที่เป็นอยู่นั้นแตกต่างกันมาก เขามองว่า สตาร์วอร์ เป็นเรื่องของความเพ้อฝัน ในขณะที่ปัจจุบันคือเรื่องของความเป็นจริง และเขาก็ยังได้แรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวด้วยซึ่งแต่ละคนก็แตกต่างกัน พร้อมยกตัวอย่างต้นข้าวโพดเหี่ยว บางคนอาจไม่สนใจ แต่คงช่างสงสัยก็จะตั้งคำถามว่าเพราะอะไร เป็นเชื้อราหรือไม่ หรือเกิดจากหนอนเจาะราก ซึ่งเวลาสอนเด็กต้องสอนให้รู้จักสังเกตและตั้งคำถาม
       


       สนใจพันธุวิศวกรรมเพราะอยากสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่
       ดร.บุญเฮียงเล่าว่าจุดเปลี่ยนความสนใจทางวิทยาศาสตร์จากที่ใฝ่ฝันจะได้ท่องอวกาศเหมือนในภาพยนตร์กลายเป็นความสนใจทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพนั้น เนื่องจากช่วง ม.ปลายได้ศึกษาเกี่ยวกับพันธุวิศวกรรมแล้วรู้สึกชอบถึงความมหัศจรรย์ที่เราสามารถสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ ได้ตามความต้องการแต่ก็เป็นเพียงความคิดตอนวัยรุ่นเท่านั้น หลังจากได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งก็ทราบว่าเราไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่เพียงแต่ใช้พันธุวิศวกรรมเพียงแปลงสิ่งมีชีวิตเพียงเล็กน้อยก็สร้างประโยชน์ 
  

                                     



   ไม่ต้องสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ แค่เปลี่ยนให้มีประโยชน์ก็พอแล้ว


       ความคิดเกี่ยวกับพันธุวิศวกรรมตอน ม.5-ม.6 ขณะนั้นคือเราอยากสร้างอะไรเราก็สร้างได้ สร้างสิ่งมีชีวิตโดยการเปลี่ยนพันธุกรรมให้ได้สิ่งมีชีวิตตามใจเรา นั่นคือความคิดขณะนั้น พอเรียนต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันเมื่อเข้าใจอะไรลึกซึ้งความคิดก็เปลี่ยนไป พันธุวิศวกรรมในความเข้าใจตอนนี้ไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ เพียงแค่เปลี่ยนบางอย่างเพื่อให้เกิดประโยชน์ก็พอแล้ว

       ทุกวันนี้เขายังคงมุ่งมั่นศึกษาศึกษาโครงสร้างและหน้าที่ของโปรตีนสารพิษจากแบคทีเรีย รวมถึงศึกษากลไกการออก ฤทธิ์ระดับโมเลกุลของโปรตีนฆ่าแมลงจากแบคทีเรีย เพื่อหาวิธีปราบยุงโดยไม่ใช้สารพิษสังเคราะห์ต่อไป โดยจะพัฒนาให้ออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้นซึ่งเป็นจุดด้อยของโปรตีนกำจัดยุงเมื่อเปรียบเทียบกับสารเคมีที่มีขายอยู่ตามท้องตลาด

       ดร.บุญเฮียงคือตัวอย่างของบุคลากรที่มีฝันและได้รับการผลักดันจนประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่ามีเด็กอีกหลายคนได้ก่อร่างความฝันและแรงบันดาลใจที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์เมื่อเติบใหญ่เช่นเดียวกับเขา หน้าที่ของผู้ใหญ่ถัดจากนี้ก็คือการผลักดันความฝันด้านบวกของพวกเขาให้กลายเป็นจริงบนทิศทางที่ถูกต้อง เพื่ออนาคตเราจะได้บุคลากรที่มีทั้งศักยภาพและความสุขในการทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

                           
     คำคมประจำวันนี้คือ  " พรแสวงให้ผลมากกว่าพรสวรรค์ "

                                                 รายการ ดร.ฮีโร่

                                




                    ข้อมูลอ้างอิง http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9490000017629

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น