วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ


   ผมมีโอกาสได้เขียนจดหมายทางไปรษณีย์ไปหาบุคคลท่านหนึ่ง ท่านเป็นคนไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกส้รางผลงานมามากมายให้กับประเทศและเป็น  The Idol ของผม
บุคคลท่านนั้นคือ ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิทยาศาสตร์หญิงที่สร้างชื่อให้กับวงการวิทย์ไทย

 ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิทยาศาสตร์หน้าใส ก้าวไกลระดับโลก

                          

   หลายคนอาจจะคิดว่านักวิทยาศาสตร์ระดับด็อกเตอร์ จะมีแต่บุคลิกใส่แว่นตาหนาเตอะเท่านั้น แต่ ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ คือตัวแทนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ๆ ที่จะขอพลิกความเชื่อดั้งเดิมของใครหลายคน ให้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่เพราะเธอคือนักวิทยาศาสตร์หน้าใส ที่มีความสามารถล้นเหลือจนก้าวไกลไปในระดับโลก เพื่อสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับคนไทยได้อย่างไม่อายใคร รายการวีไอพี (9 กรกฎาคม) จึงขออาสาพาไปพูดคุยกับสาวอัจฉริยะคนนี้กันครับ

ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ หรือ ดร.ต่าย หัวหน้าห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) คือนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับรางวัลการันตีจำนวนมาก นับตั้งแต่ "รางวัลทุนวิจัยลอรีอัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" "รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากสภาวิจัยแห่งชาติ ชุดตรวจเชื้อก่อโรคในอาหาร" และ "รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ดีเด่นของประเทศไทย พระราชทานจากพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี" ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นรางวัลในระดับประเทศ

          นอกจากนี้ยังมีรางวัลในระดับโลกอย่าง การได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 43 ตัวแทนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากทั่วโลก เพื่อเข้าร่วมเวทีประชุมวิชาการระดับโลก World Economic Forum (WEF) อีกทั้งยังได้รับเลือกตั้งเป็นตัวแทนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ให้ดำรงตำแหน่งประธานร่วมขององค์กรเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของโลก พร้อมทั้งได้รับเชิญจากผู้แทนพระองค์ราชินีอังกฤษ ในประเทศแคนาดา ให้เป็น 1 ใน 14 คน ที่จะเข้าร่วมเสวนาวิทยาศาสตร์ โดย ดร.นิศรา เป็นตัวแทนคนเดียวจากทวีปเอเชียอีกด้วย

                              
    
 หากย้อนกลับไปในสมัยวัยเยาว์ ดร.นิศรา คือชาวจังหวัดนครสวรรค์ ที่สนใจคณิตศาสตร์ตั้งแต่เด็ก เพราะคุณแม่เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ และคุณพ่อเป็นอาจารย์สอนจิตวิทยาเด็กในมหาวิทยาลัย ซึ่งเน้นการสอนให้รู้จักคิดอย่างมีเหตุมีผล

        ดร.นิศราตั้งใจเรียนในห้อง และตั้งใจฟังครูมาก เพราะเป็นคนไม่ชอบท่องจำ จึงพยายามตั้งใจเรียนให้เข้าใจ อีกทั้งฐานะทางบ้านก็ไม่ได้ร่ำรวย จึงไม่ค่อยได้เรียนพิเศษมากเท่าไหร่ เน้นการถามคุณครูในยามที่ไม่เข้าใจมากกว่า เนื่องจากเป็นคนช่างพูดช่างถาม จึงทำให้เรียนรู้เรื่องและมีผลการเรียนที่ดี

         ทั้งนี้ ดร.นิศรา บอกว่าตนเองมีพี่สาวเป็นแรงบันดาลใจ เพราะพี่สาวเรียนเก่งมาก จึงใฝ่ฝันอยากจะเป็นให้ได้เหมือนพี่สาว ทำให้ตั้งใจเรียนและสอบเทียบข้ามชั้น เพราะอยากสอบเข้าแพทย์ตามพี่สาว ก่อนที่จะมีโอกาสได้สอบชิงทุนรัฐบาลไทยเพื่อไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศ โดยดร.นิศรา เลือกสอบทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ สายวิศวกรรมเคมี กับ ทุนกระทรวงต่างประเทศ สายเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ซึ่งเธอก็สอบผ่านทั้ง 2 ทุน แต่เมื่อต้องเลือกเพียง 1 ทุน ดร.นิศราจึงขอเลือกสายวิทยาศาสตร์อย่างที่ชอบ

                                      
                                        

 ดร.นิศรา ซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียง 16 ปี และได้รับทุนจากรัฐบาลแล้ว ต้องเก็บกระเป๋าหอบสัมภาระเพื่อเดินทางไปเรียนต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ยังไม่เก่งภาษาอังกฤษ จึงมีปัญหาในการปรับตัวช่วงปีแรกอย่างมาก แม้เธอจะตั้งใจเรียนในห้องและพยายามฝึกฝนภาษา แต่การเตรียมตัวสอบวัดผลต่าง ๆ เพื่อเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอย่างหักโหม ทำให้เธอถึงกับเอ่ยว่าปีนั้นเป็นปีที่หนักที่สุดในชีวิต

         แต่เมื่อมีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ดร.นิศราจึงนำจุดเด่นนี้มาติวให้กับเพื่อน ๆ ต่างชาติ ซึ่งนอกจากจะได้ทบทวนความรู้เพิ่มเติมไปด้วยแล้ว ยังทำให้ได้ฝึกภาษามากขึ้นด้วย เพราะเพื่อน ๆ เองก็ติวภาษาอังกฤษให้เป็นการแลกเปลี่ยนเช่นกัน จนในที่สุด ดร.นิศรา ก็สอบติดมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ 1 ใน 5 ของสหรัฐอเมริกาได้ นั่นก็คือมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเธอตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอยู่ 4 ปี จนจบการศึกษามาด้วยคะแนนสูงที่สุดของคณะวิศวกรรมเคมี ได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับ 1 รวมทั้งมีชื่อจารึกลงบนแผ่นทองคำของมหาวิทยาลัยอีกด้วย ซึ่งดร.นิศรา คือคนไทยคนแรกและคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับเกียรตินี้

         จากนั้น ดร.นิศรา ยังคงไม่หยุดนิ่ง เดินหน้าศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ต่อทันที โดยได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยประหยัดเงินทุนจากรัฐบาลไทยอีกด้วย ในครั้งนี้ ดร.นิศรา ใช้เวลาในการศึกษาอยู่ 5 ปี ก่อนที่จะได้ดีกรีด็อกเตอร์มาครอบครองได้สำเร็จ


         แม้ว่าการเรียนจบมาด้วยคะแนนสูงและมีความสามารถล้นเหลือ จะทำให้ดร.นิศรา ได้รับการติดต่อทาบทามเพื่อให้ไปร่วมงานด้วยทั้งจากองค์กรในประเทศไทยและต่างชาติ แต่ ดร.นิศรา กลับเลือกที่จะกลับมาใช้ความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมานับ 10 ปี ด้วยเงินทุนของรัฐบาลและภาษีของประชาชนชาวไทย เพื่อทำงานตอบแทนประเทศชาติ

                            

      โดย ดร.นิศรา บอกว่า แม้การชดใช้ทุนจะมีข้อกำหนดให้สามารถชดใช้เป็นตัวเงินได้ แต่ตนเองก็ยังคงเชื่อมั่นว่า การใช้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาเพื่อตอบแทนภาษีประชาชนคือสิ่งที่คุ้มค่ามากกว่า เพราะรัฐบาลเองคงไม่ได้ต้องการเงินคืน มากเท่ากับการสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถเพื่อมาช่วยพัฒนาประเทศ ดังนั้นหากตนเองคืนทุนเป็นจำนวนเงิน รัฐบาลก็จะต้องไปเสียเวลาสร้างคนที่มีความสามารถขึ้นมาใหม่ เสียเวลาไปอีกนับ 10 ปี พร้อมทั้งยังต้องแบกรับความเสี่ยงไว้อีกด้วย

       
                           
      ดร.นิศรา จึงเลือกที่จะทำงานอยู่ในองค์กรของรัฐบาลเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พร้อมรับผิดชอบด้านการวิจัยพันธุ์กุ้งกุลาดำ สัตว์เศรษฐกิจที่มีมูลค่าการส่งออกสูง ซึ่งมักมีปัญหาในการเจริญเติบโต เนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาด โดยมีการเขียนโครงการเพื่อขอเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศเพื่อทำการวิจัยร่วมด้วย อีกทั้งยังเป็นหัวหน้าทีมวิจัย ที่มหาวิทยาลัยควีน ในประเทศอังกฤษ โดยใช้ทุนวิจัยจากสหภาพยุโรป และในปัจจุบันเธออยากสร้างเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์เพื่อให้ก้าวไปในเวทีระดับโลกให้มากขึ้นด้วย

คำคมในวันนี้คือ  Push the limit. การก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง อาจทำให้เราประสบผลสำเร็จได้อย่างไม่น่าเชื่อ



                  รายการ The Idol คนสร้างแรงบันดาลใจ

















                                                     


               ข้อมูลอ้างอิง http://hilight.kapook.com/view/73550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น