วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี

    จากเด็กตัวน้อยคนหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นเด็กอัจฉริยะของโลก เรามาดูประวัติของเด็กคนนี้ดีกว่าว่าทำไมเขาถึงเป็นเด็กอัจฉริยะ.....เชิญพบกับ..

                                     น้องธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี



       ธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี เด็กอัจฉริยะ ติด 1 ใน 15 เด็กอัจฉริยะที่สุดในโลก ซึ่ง ธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี มีความโดดเด่นทั้งการวาดภาพ Abstract เล่นไวโอลิน และด้านวิชาการ
          
        วันที่ 25 กันยายน 2556 รายการครอบครัวข่าวเช้า ทางช่อง 3 รายงานว่า ด.ช.ธนัช เปลวเทียนยิ่งทวี อายุ 11 ขวบ ติด 1 ใน 15 เด็กอัจฉริยะที่สุดในโลก จากการสำรวจของเว็บไซต์thebestschools.org ซึ่งจากอันดับดังกล่าวประกอบไปด้วย เด็กอเมริกัน 6 คน อังกฤษ 4 คน รวมถึงไทย ออสเตรเลีย ฮ่องกง เคนยา และมอลโดวา อีกประเทศละ 1 คน
            
          โดย ด.ช.ธนัช ฉายแววอัจฉริยะตั้งแต่อายุได้ 3 ขวบ มีผลงานเขียนภาพแนว Abstract ซึ่งสามารถนำออกขายได้ทั่วโลกตั้งแต่ที่น้องธนัชอายุ 4 ขวบเท่านั้น เขาจึงได้รับฉายาว่า "ปิกัสโซ่น้อย"และเมื่อโตขึ้นน้องธนัชมีความสามารถในการเล่นไวโอลินได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งมีผู้ที่ชมคลิปทั่วโลกแล้วกว่า 23 ล้านวิว พร้อมกับได้รับฉายาอีกเช่นกันว่า "โมสาร์ทน้อย" นอกจากนี้ น้องธนัชยังฉายแววโดดเด่นทางด้านวิชาการ พ่อแม่จึงจัดการเรียนการสอนให้ที่บ้านแบบ Family Academy เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพให้กับเด็ก



นอกจากนี้ น้องธนัช ยังได้ร่วมงานวิจัยกับมหาวิทยาลัย 2 แห่ง ที่ภาคชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และงานวิจัยวิทยาการคอมพิวเตอร์ในการแปลภาษามนุษย์ให้เป็นภาษาคอมพิวเตอร์กับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



            โดยน้องธนัชตอบคำถามใน thebestschools.org ไว้อย่างน่าสนใจ โดยกล่าวว่า "คำถามที่ผมถูกถามบ่อย ๆ ว่าโตขึ้นอยากจะเป็นอะไร เป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะไม่ว่าเราจะเลือกอะไร เราก็ต้องผูกมัดกับสิ่งนั้นไปทั้งชีวิต ผมจึงระมัดระวังก่อนที่จะตอบ"

            นอกจากนี้ น้องธนัช กล่าวด้วยว่า ชอบที่ได้เรียนอยู่ที่บ้าน วันหนึ่งทำอะไรได้หลายอย่าง ทั้งเรียนและออกกำลังกายด้วยการซ้อมไวโอลินซึ่งตรงกับสิ่งที่อยากจะทำ และผมชอบคุยกับคนที่อายุมากกว่า หลายท่านเป็นระดับศาสตราจารย์ ซึ่งก็ได้รับความรู้และประสบการณ์หลายเรื่อง ได้นำสิ่งที่ท่านเหล่านั้นบอกมาไปต่อยอดค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งอื่น ๆ เมื่อพบปัญหาก็กลับไปถามซึ่งท่านเหล่านั้นก็จะชี้จุดให้ผมเดินต่อไปได้



ข้อคิอของน้องธนัช" ผิดหวังไม่ใช่ล้มเหลว เพียงแต่เรายังเดินไปไม่ถึงเท่านั้น"

รายการเจาะข่าวเด่น



                                 


อยากคุยกับน้องธนัช ตามนี้เลยคร้บ https://www.facebook.com/dhanatwonderkid
                                                                   

                                                            ข้อมูลอ้างอิง http://education.kapook.com/view72019.html

หนูดี วนิษา เรซ


หนึ่งท่านที่ผมจะมาทำให้ผู้อ่านรู้จักกันนั้นคือ คุณหนูดี วนิษา เรซ 
ข้อความนี้เป็นบทสนทนาของหนูดี วนิษา เรซ




          วนิษา เรซ หรือ หนูดี หญิงเก่งของไทย (อเมริกัน) วัย 30 ปี จบปริญญาตรีเกียรตินิยมด้าน ครอบครัวศึกษา Family Studies มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ คอลเลจพาร์ค สหรัฐอเมริกา ปริญญาโทเกียรตินิยมด้านวิทยาการทางสมอง (Neuroscience) ในโปรแกรม Mind, Brain and Education มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน - เป็นผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านอัจฉริยภาพ (เพียงคนเดียวในไทย) ผู้ชนะล้านที่ 15 รายการ "อัจฉริยะข้ามคืน" ประธานกรรมการ บริษัท อัจฉริยะสร้างได้ จำกัด www.geniuscreator.com ผู้อำนวยการโรงเรียนวนิษา www.vanessa.ac.th เป็นผู้นำเสนอแนวคิด - คนทั่วไปก็สร้างและฝึกฝนให้เป็นอัจฉริยะได้เช่นกัน - เขียนหนังสือ "อัจฉริยะสร้างได้"
       
     พื้นฐานที่คุณแม่สร้างให้ โรงเรียนวนิษา ตั้งขึ้นโดยมี คุณชุมศรี รักษ์วนิชพงศ์ เป็นผู้ก่อตั้งภายใต้แนวความคิดซึ่ง คุณชุมศรีได้ให้สัมภาษณ์ ไว้ในเอกสารชื่อว่า ปฏิรูปการเรียนรู้ ผู้เรียนสำคัญที่สุด ของ คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2543 ว่า ...ดิฉันไม่เชื่อวิธีที่โรงเรียนส่วนใหญ่ทำอยู่ จับเด็กมาขังในคอก ไม่อยากจะใช้คำนี้ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ บังคับเด็กมานั่งนิ่ง ๆ จำกัดศักยภาพการเติบโตของสมอง
     
           
      "โชคดีที่คุณแม่วางพื้นฐานทางความคิดมาให้ตั้งแต่เด็กๆ โดยริเริ่มเปิดโรงเรียนสอนหนูดีคนเดียวก่อน ชื่อโรงเรียนวนิษา เป็นโรงเรียนที่ไม่ให้เด็กต้องมานั่งท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ แต่ใช้วิธีการสอนแบบใหม่ คือให้เด็กคิดแบบอิสระ กล้าที่จะถาม ซึ่งตอนแรกคิดว่าไม่มีใครสนใจ แต่พอคนเริ่มเห็นกิจกรรมต่างๆ ที่ทางรร.สอนเด็ก อย่างวิชาวิทยาศาสตร์ก็จะมีการพาเด็กไปดูสวน ธรรมชาติ ก็เลยสนใจส่งลูกๆ มาเรียนกัน" "แต่พอขึ้นมัธยมหนูดีก็ย้ายมาเรียนรร.สตรีล้วน ปรากฏว่าเราเข้ากับระบบการศึกษาไม่ได้ พอจบมัธยมหนูดีก็เลยตัดสินใจขอคุณแม่ไปเรียนต่อป.ตรีที่มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ อเมริกา พอจะต่อโทก็ประจวบเหมาะได้ศึกษาแนวความคิดขอโปรเฟสเซอร์โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ที่ว่าคนเรามีความอัจฉริยะที่แตกต่างกันไป ไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง" "พอทราบว่าเขากำลังเปิดสอนปริญญาโทหลักสูตรเกี่ยวกับสมองเป็นหลักสูตรแรกที่ฮาร์วาร์ด หนูดีก็เลยสมัครเข้าไปเรียนเพื่อนำความรู้มาพัฒนาระบบความคิดของคนไทยใหม่ ซึ่งตอนนี้รร.วนิษาก็เริ่มใช้ระบบนี้แล้ว อีกทั้งหนูดียังเปิดบริษัทอัจฉริยะสร้างได้ ให้คำปรึกษา 3 ส่วน คือ ดูแลเรื่องหลักสูตรโรงเรียน เทรนนิ่งครูและผู้บริหาร" "เป็นที่ปรึกษาการพัฒนาศักยภาพองค์กรต่างๆ และหลักสูตรครอบครัวอัจฉริยะ เปิดสัมนาสำหรับบุคคลทั่วไป เพราะหนูดีคิดว่าครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างอัจฉริยะภาพที่ดีที่สุดค่ะ" 

        ในช่วงปริญญาตรี
 ชีวิตแต่ละวันผ่านไปด้วยความหนักและเหนื่อย ท่องหนังสือเยอะมาก เวลาที่จะออกกำลังกาย ออกไปเที่ยวกับเพื่อนก็น้อย เมื่อมารวมกับวัฒนธรรมของเพื่อนอเมริกัน ที่ชอบไปค้างอ้างแรมในป่า ไปปีนเขา พายเรือ เข้าถ้ำช่วงสุดสัปดาห์ ทำให้หนูดีต้องแพ็คกระเป๋าตามไปด้วย แต่ไม่ว่าจะไปป่าลึกแค่ไหน หรือ พายเรือไปค้างบนเกาะที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ สิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในกระเป๋าแบ็คแพ็ค คือ หนังสือเรียน หยิบออกมาทีไร โดนเพื่อนฝรั่งหัวเราะใส่ตลอด ว่ามาเที่ยวนะ อีกอย่าง วันจันทร์ก็ไม่ได้มีสอบด้วย แต่หนูดีก็กลัวสอบได้คะแนนไม่ดี จนต้องท่องหนังสือแทบทุกเวลาที่ว่าง ประกอบกับเป็น นิสัยดั้งเดิมที่ติดไปตั้งแต่เมืองไทยด้วย คือ กลัวสอบตก กลัวทำให้พ่อแม่ผิดหวัง แถมเราเป็นเด็กสองภาษา ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษภาษาเดียวเหมือนเพื่อนฝรั่ง หนูดีจึงต้องพยายามเป็นสองเท่า เวลาต้องเรียนหนักและไม่ได้ทำอะไรที่อยากทำ หรือ ไม่มีชีวิตสบายๆแบบคนอื่น หนูดีก็จะปลอบใจตัวเองว่า เดี๋ยวก็จบตรีแล้ว แล้วก็ก้มหน้าท่องหนังสือต่อไป โดยไม่เคยได้รู้ว่าชีวิตมีตัวเลือกอื่น ที่ทำให้เราเรียนได้ดีขนาดนี้เหมือนกัน

         เวลาผ่านไปจนหนูดีเรียนเกือบจบปริญญาตรี ใบรางวัลเรียนดีที่เพิ่มขึ้นทุกปี จนจำชื่อไม่ได้ว่าได้ใบประกาศเกียรติคุณด้านไหนบ้าง รู้แต่ว่าจะได้เกรดสลับกันไป บางเทอมได้ 4.00 บางเทอมได้ 3.9 รวมถึงจดหมายชมเชยจากอธิการบดี ที่จะส่งตรงมาถึงบ้านคุณแม่ที่เมืองไทยทุกครั้ง แต่ทั้งหมดนี้ ก็มาพร้อมความเครียดที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของหนูดี รวมถึงความรู้สึกว่า สมัยนี้แค่ปริญญาตรีคงไม่พอ โอ้โห ถ้าหนูดีต้องเรียนปริญญาโทด้วยความรู้สึกแบบนี้ คงต้องตายก่อนเรียนจบแน่ๆ คือ หนูดีอยากรู้ว่า ทำอย่างไรคนเราถึงจะฉลาด เป็นอัจฉริยะกันได้ โดยยังใช้ชีวิตดำเนินทางสายกลางอย่างมีความสุข ไม่ต้องหักโหม ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนที่หนูดีเคยทำมา และเหมือนเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยคนอื่นๆที่ได้เกียรตินิยมเหมือนกัน เช็คแล้ว ปรากฏว่า ที่เดียวในโลก ที่สอนด้านสมอง แต่ไม่ใช่ให้เราไปผ่าตัดนะคะ แต่เรียนให้รู้ว่า สมองคืออะไร ทำงานอย่างไร และรู้ว่า ทำตัวอย่างไร ถึงจะใช้สมองให้คุ้มค่า มีศักยภาพที่สุด ก็มีอยู่ที่เดียวในโลกเท่านั้น คือ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่บอสตัน สหรัฐ อเมริกา เห็นชื่อมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ตกใจ ถอยมาหนึ่งก้าว เพราะถึงจะเป็นนักเรียนระดับเกียรตินิยมมา แต่ก็ไม่ใช่ว่า เด็กคะแนนดีทุกคนจะเข้าเรียนที่นี่ได้ เพราะ เป็นมหาวิทยาลัย อันดับหนึ่งของโลก ใครๆก็เรียนเก่งมาทั้งนั้นตัวหนูดีเอง เรียนที่แมรี่แลนด์ ซึ่งก็จัดว่าอยู่ในระดับดี แต่ก็ได้แค่ประมาณอันดับที่ยี่สิบ อันดับที่ยี่สิบห้าของประเทศอยู่เท่านั้น.... ขนาดแค่นี้ ยังเรียนหนักจะตาย แล้วอย่างที่ฮาร์วาร์ด หนูดีมิต้องตายคาหนังสือหรือนั่น แถมเพื่อนๆ ก็คงเก่งระดับอัจฉริยะกันทุกคน...นึกๆไปว่า คงไม่มีใครคุยกันหรอก คงแข่งกันเรียน แข่งกันทำงาน ไม่มีใครมีเวลาเสวนากับใครแน่ๆ.....แถมสมัครไปก็ไม่รู้ว่าเขาจะรับเราหรือเปล่า เพราะนอกจากเรียนเก่งแล้ว ก็ต้องประวัติดี มีความพิเศษที่ไม่เหมือนใคร มีจดหมายรับรองชั้นดี สารพัด แต่ก็เอาค่ะ ฮึดสุดชีวิต ตั้งหน้าตั้งตาสอบวัดมาตรฐาน เขียนจดหมายแนะนำตัวอย่างใช้ความคิดทุกหยด เตรียมตัวเป็นเดือน สมัครไป รอคำตอบอีกครึ่งปี...... 

        ระหว่างที่รอคำตอบจากฮาร์วาร์ด เธอได้กลับมาพักผ่อนที่เขาหลัก และอยู่ในเหตุการณ์สึนามิ กลับมาเมืองไทยวันแรกก็บินไปเที่ยวเขาหลักกับน้องสาว (หนูหวาน) แล้วน้องสาวอยากมาหาดป่าตองก็ขับรถกันไป แล้วตอนแรกก็จะลงเล่นน้ำแต่เปลี่ยนใจไปปีนเขากัน เลยทำให้รอดจากเหตุการณ์นี้ จากนั้นได้ไปช่วยเป็นอาสาสมัครเป็นล่ามแปลภาษาอยู่ 3 วันที่โรงพยาบาลพังงา ...จากที่ได้พบเห็นเหตุการณ์เหล่านี้ หนูดีเลยกลับไปเขียนแนะนำตัวส่งให้ทางฮาวาร์ดใหม่หมดเลย...ซึ่งเขียนวิเคราะห์ระบบการศึกษาไทยผ่านเหตุการณ์สึนามินี้ ซึ่งหนูดีก็เคยเรียนโรงเรียนไทย หนูดีรู้ว่าเวลาปกติ ระบบการศึกษาไทยก็ไม่ได้สอนให้คนใช้ศักยภาพสมองเต็มที่อยู่แล้ว คนไทยไม่ได้ถูกฝึกกระบวนการคิด ไม่ได้ถูกฝึกในการที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ฉะนั้นในเวลาปกติเราก็ไม่ได้เก่งเป็นพิเศษอยู่แล้วพอเจอภาวะฉุกเฉินหรือเหตุการณ์คับขันซึ่งเราน่าจะลดภาวะการณ์สูญเสียชีวิต หรือสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ได้ เช่น สามารถจะเตือนภัยได้ สามารถลดการสูญเสียคนได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เพราะคลื่นสึนามิป้องกันง่ายมากคนวิ่งหนีไป 10 นาทีก็รอดแล้ว แต่พอไม่มากก็มีคนสูญเสียบาดเจ็บล้มตายเยอะ ..ระบบโรงพยาบาลก็ไม่เพียงพอ ที่โรงพยาบาลพังงา 3 วันแรกติดเชื้อเยอะมาก ก็ต้องย้ายผู้ป่วย มีการขอรถพยาบาล ขอเฮลิคอปเตอร์ ทีนี้ขอไปแล้วไม่ส่งมา 1 วันก็แล้ว 2 วันก็แล้ว มีฝรั่งคนหนึ่งจากบาดแผลปกติกลายเป็นแผลติดเชื้อ ต้องตัดขา ซึ่งเราเสียความรู้สึกมากกับระบบตรงนี้ คือระบบของคนไทยแตกสลายลงทุกส่วนเลย เพราะระบบการศึกษามันไม่เอื้อให้คนคิด พอคนไม่คิดมันก็กระทบเป็นโดมิโนหมด ตอนท้ายจดหมายหนูดีก็เลยบอกว่าอยากเรียนด้านสมอง เพราะต้องการเอาตรงนี้มาช่วยเหลือคนในทุกสถานการณ์ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา นอกระบบการศึกษา และองค์กรต่างๆ ซึ่งหนูดีไม่เชื่อว่าคนในองค์กร ณ ปัจจุบันได้ใช้สมองอย่างเต็มประสิทธิภาพ 

.......ในที่สุด ฟ้าก็ส่งคำตอบมาในรูปจดหมายว่า ยินดีด้วย คุณได้รับเลือกเป็นนักเรียนฮาร์วาร์ด สำหรับปีการศึกษาหน้า............

             โอ้โห ตกใจอีกรอบ น้ำตาไหลด้วยความดีใจ แล้วก็แอบมาเครียดเล็กๆว่า เอาอีกแล้ว ถึงเวลาจมอยู่กับกองหนังสือเรียนอีกแล้ว คราวนี้คงยิ่งหนักเป็นสองเท่า เฮ้อ คิดแล้ว ภูมิใจปนกลุ้ม แต่วันเดินทางก็มาถึง แล้วหนูดีก็ไปโผล่ที่ ฮาร์วาร์ด สแควร์ ในฐานะ นักศึกษาใหม่ หน้าตาตื่นเต้น ในต้นฤดูใบไม้ร่วง อากาศสดใสที่บอสตัน แต่ในใจก็ยังกังวลและเครียดไม่วาย จนได้มานั่งอยู่ในห้องปฐมนิเทศ มีรุ่นพี่ของปีที่แล้วมาให้คำแนะนำว่า จะเรียนอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จที่ฮาร์วาร์ด โดยมีเหตุผลว่า พวกเราทุกคนที่นั่งอยู่ในห้องนี้ ถือว่าเป็นผู้ชนะของสังเวียนที่ยากที่สุด คือการฝ่าด่านสิบแปดอรหันต์เข้ามาเป็นนักเรียนใหม่ที่นี่ได้ แต่หลายคนคงเรียนมาด้วยวิธีผิดๆ คือ เรียนหนักเข้าว่า โดยไม่ได้ เรียนอย่างฉลาด วันนั้น หนูดีได้เกร็ดจากรุ่นพี่มาเยอะมาก ซึ่งก็รวมอยู่ใน เทคนิคเรียนเก่งอย่างอัจฉริยะ ที่หนูดีตัดสินใจเปิดเพื่อให้ความรู้ดีๆ ส่งต่อไปถึงน้องนักเรียนรุ่นหลังๆ เหมือนที่หนูดีได้รับมาจากรุ่นพี่ระดับอัจฉริยะ ทุกคน แล้วตลอดเวลาที่เข้าเรียนที่ฮาร์วาร์ด หนูดีก็ได้เรียนรู้เทคนิคดีๆ ที่มหาวิทยาลัยชั้นหนึ่งแห่งนี้ ได้คิดและทำวิจัยมาใช้กับเด็กของเขาโดยเฉพาะ เพราะคนกลุ่มนี้ ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่เรียนหนักมาก เรียนยากมาก และการค้นพบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงโลก ก็มักถูกค้นพบที่นี่ หรือ โดยนักศึกษา และคณาจารย์ ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ทั้งนั้น หนูดีได้เรียนรู้เทคนิคการจัดหมวดความคิด การสรุปย่อให้ตรงประเด็น การอ่านเร็วและจับใจความโดยไม่ตกหล่น การเขียนบทความวิชาการระดับโลก การเขียนรายการชนิดเอาไปนำเสนอกับคองเกรสได้เลย หรือ การอภิปรายแสดงความคิดแบบผู้นำระดับโลก คือทุกอย่างที่เราถูกสอน จะถูกสอนประหนึ่งว่า พรุ่งนี้ เราต้องไปรับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดีนั่นเชียว
  เพราะมหาวิทยาลัยนี้ ผลิตผู้นำในทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร ผู้นำทางการแพทย์ ผู้นำวงการการศึกษา ประธานาธิบดีอเมริกาหลายคนก็เป็นศิษย์เก่าที่นี่ รวมถึงว่าที่กษัตริย์ ที่เป็นเป็นขวัญใจชาวไทย อย่างองค์มกุฎราชกุมารจิกมี แห่งภูฐาน ซึ่งมาเรียนเรื่องการปกครอง ที่โรงเรียนเคนเนดี้ ฝั่งข้ามแม่น้ำชาร์ลส์ของหอง ดังนั้น อาจารย์ จะฝึกเราไว้เตรียมรับทุกอย่างที่อาจจะเกิดขึ้น แต่เมื่อการเรียนโดยเนื้อหา ถือว่ายากมากแล้ว กระบวนการเรียน ก็เลยถูกคิดค้นให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และใช้เวลาน้อยที่สุด เพราะไม่เช่นนั้น ทั้งมหาวิทยาลัยคงไม่มีใครได้นอนกันแน่ เพราะงานเยอะมาก แม้แต่วิธีการอ่านก็ต้องย่นย่อ ให้อ่านได้มากที่สุด ในเวลาที่ประหยัดที่สุด เพราะเราอ่านกันในปริมาณมหาศาล เป็นตั้งๆทุกคืน แถมต้องตีความและอภิปรายอย่างฉลาดด้วย ทั้งๆที่แค่อ่านให้จบนับว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าใช้วิธีการอ่านอย่างปรกติที่หนูดีใช้สมัยเรียนปริญญาตรี คงไม่ได้ทำอะไรอื่นๆในชีวิตอีกเลย พอมาเรียนรู้กระบวนการเรียนใหม่ ที่ใช้ข้อมูลทางสมองเป็นพื้นฐาน ทำให้หนูดีเรียนได้อย่างมีความสุขอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรกในชีวิต และนอกจากเรียนได้ดี โดยเทอมแรกก็คว้าเกรดเฉลี่ย 4.00 มาครองเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่โดนขู่ไว้ตลอดว่า เรียนที่นี่ ใครจะเก่งมาจากไหน ยากมากที่เทอมแรกจะได้ A ทุกตัว แต่หนูดีก็ทำได้มาแล้ว ด้วยสุขภาพจิตที่เปลี่ยนไปเป็นคนละคน เรียนไปยิ้มไป เรียนที่นี่ เรียนด้วยความมั่นใจ เพราะเรา เรียนเป็น แล้ว และที่น่าทึ่ง คือหนูดีได้นอนหลับประมาณ แปดชั่วโมงทุกคืน และได้ออกกำลังกายสัปดาห์ละ สามครั้งเป็นประจำ จิตใจแจ่มใส สมองก็ปลอดโปร่ง เรียนได้ดีจนไปติวเพื่อนได้เป็นกลุ่มๆ ทุกคนน่ารักและเป็นมิตร จนเราได้เพื่อนกลุ่มใหญ่ติดมือกลับมาเมืองไทย และในที่สุด วันรับปริญญาโทก็มาถึง ซึ่งหนูดีก็ได้ร่วมกับงานรับปริญญาที่ขลังและเก่าแก่ที่สุดในโลก ด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยมอีกแล้ว (แต่การจะจบจากมหาวิทยาลัยฮาว์วาร์ดได้ต้องใช้ทุนในการศึกษาและค่าใช้จ่ายต่อปีไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ซึ่ง "หนูดี" ยอมรับการเป็นคนเรียนดี และรู้จักใช้สมองอย่างถูกวิธีทำให้สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนี้โดยได้รับทุนการศึกษาตลอดจนจบการศึกษา) แต่คราวนี้ที่ต่างไป คือความสุข ความมั่นใจของหนูดี ที่รู้แล้วว่า เรียนเก่งระดับอัจฉริยะแบบนี้ ไม่ต้องเครียด ก็ทำได้ แถมมีเวลาใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพมากมาย แล้วก็กลายเป็นความตั้งใจว่า หนูดีจะต้องนำความรู้ที่ดีๆ ที่คนไทยน้อยคนจะมีโอกาสได้ไปรับรู้ มาให้เด็กไทย คนไทย ได้นำไปใช้ เพราะประเทศของเราก็เรียนกันหนัก แข่งกันเรียน แข่งกันสอบ...ถ้าเรา คิดเป็น เราก็จะ เรียนเป็น และเมื่อทำงานก็จะ ทำงานเป็น แบบที่พวกอัจฉริยะเขาเป็นกัน ครูหนูดี ตั้งใจว่า ก่อนจะบินกลับไปเก็บตัวในห้องวิจัยเพื่อเรียนต่อปริญญาเอกเธอจะใช้เวลา 2 ปี "ติวเข้ม" ให้คนอีก 4 กลุ่มเรียนรู้ในการพัฒนาตัวเอง นั่นคือ กลุ่มนักเรียนม.ปลาย ที่กำลังเตรียมตัวเอนทรานซ์อย่างหน้าดำคร่ำเครียด นักศึกษาเรียนหนัก กลุ่มพ่อแม่ฝึกลูกให้เป็นอัจฉริยะ และกลุ่มยังก์โปร หรือคนทำงานรุ่นใหม่ ผ่านงานเขียนหนังสือ และการฝึกอบรม ภายใต้บริษัทจัดอบรม "อัจฉริยะสร้างได้" เริ่มจากการปั้นเด็กๆ ในโรงเรียนวนิษาที่เธอนั่งบริหารอยู่ให้เป็นเด็กน้อยแสนอัจฉริยะ และมีความสุข

ข้อคิดประจำวันนี้คือ "อย่าปล่อยให้เวลาและโอกาสหลุดมือไป จงไขว่คว้ามันไว้และใช้มันอย่างคุ้มค่าให้ดีที่สุด"


รายการ the idol คนส้รางแรงบันดาลใจ



                                


                               




ข้อมูลอ้างอิง 
http://women.sanook.com/2020/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B8%B5-%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%B2-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%8B%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8D%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%89%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E-20090713/

วันอังคารที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ดร.บุญเฮียง พรมดอนกลอย


         วันนี้ผมจะพาท่านผู้ชมได้รู้จักนักวิจัยท่านหนึ่ง ซึ่งท่านมีชีวิตในวัยเด็กอย่างยากไร้ขัดสน จนความพยายามและความชอบทำให้ท่านผู้นี้ประสบผลสำเร็จจนได้เป็นนักวิจัยของประเทศ ดอกเตอร์ท่านนี้เป็นคนจังหวัดบุรีรัมย์ อ.ลำปลายมาศ ครับ ท่านเป็นเพื่อนของพ่อผมเอง และผมมีโอกาสได้สนทนากับท่านมาหลายครั้ง โชคดีที่ผมได้คุยกับบุคลากรของประเทศหลายท่าน .... ถ้าอยากรู้ประวัติของดอกเตอร์อมตะท่านนี้....ก็ไปชมประวัติของท่านกันเลยครับ

                                              ดร.บุญเฮียง พรมดอนกลอย




      ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย นักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยวิศวกรรมจุลินทรีย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์กับสังคมไม่น้อย เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาเขาได้เสนอหนทางปราบ ยุง ด้วยเทคนิคตัดต่อพันธุกรรมแบคทีเรียให้ผลิตโปรตีนที่ฆ่ายุงได้อย่างจำเพาะเจาะจง และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยนำโปรตีนไปให้ลูกน้ำกินซึ่งจะทำให้ตายภายใน 2-3 วัน วิธีดังกล่าวกำจัดยุงได้ผลดีกว่าไล่ฆ่ายุงที่บินได้แล้วซึ่งควบคุมได้ลำบากกว่าตอนเป็นลูกน้ำ และเขาก็มีผลงานตีพิมพ์วารสารวิชาการนานาชาติแล้วถึง 12 ผลงาน
        ปัจจุบันนอกจากเป็นนักวิจัยของไบโอเทค เขายังเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษของสถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกทั้งเป็นอาจารย์พิเศษวิชาเทคโนโลยีชีวภาพของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าด้วย และเมื่อเร็วๆ นี้วิทยานิพนธ์เมื่อครั้งศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University)เรื่องอณูชีววิทยาของโปรตีนสารพิษจากแบคทีเรีย ก็เพิ่งได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
       
 
 สตาร์วอร์ความฝันก้าวแรกสู่เส้นทางนักวิทย์
       ด้วยผลงานและหน้าที่อันมากมายแต่ใครจะล่วงรู้ว่า ดร.บุญเฮียงในวัยเยาว์ได้แรงบันดาลจาก สตาร์วอร์ อภิมหากาพย์ภาพยนตร์ซึ่งทำให้เขาใฝ่ฝันที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์เขาเล่าว่าในวัยเด็กใฝ่ฝันที่จะได้ท่องอวกาศเหมือนในภาพยนตร์ ซึ่งได้กลายเป็นแรงผลักอันดับแรกให้เขาตั้งเป้าที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งเขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากประสบการณ์ที่เข้ามาจึงทำให้เขากลายเป็นนักวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพอย่างที่เป็นอยู่นี้
       

  
ตอนนั้นอยากไปอวกาศแค่นั้นแหละ เห็นเขาใช้ดาบเลเซอร์ก็อยากใช้บ้าง สมัยเป็นเด็กผมมีดาบเลเซอร์เต็มบ้าน เห็นเขาขึ้นยานอวกาศไปนั่นไปนี่ได้ก็อยากไปบ้าง แต่พอขึ้นมัธยมความคิดก็เปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่งเพราะเราเริ่มรู้อะไรมากขึ้น พอเรียนปริญญาตรีก็รู้อีกระดับความคิดก็เปลี่ยนไป ถึงปริญญาเอกก็เป็นความรู้อีกระดับ และมาทำงานด้วยสภาวะที่เป็นอยู่ความคิดก็เปลี่ยนไปอีกระดับ

       
บวชเรียนเพราะทางบ้านยากจน แต่ไม่ทิ้งความสนใจวิทย์
       ดร.บุญเฮียงเล่าว่าด้วยความจำเป็นที่ทางบ้านยากจนไม่สามารถส่งเสียให้เรียนได้เนื่องจากฐานะค่อนข้างลำบาก หลังจบชั้นประถมแล้วเขาจึงต้องหยุดเรียน 1 ปีเพื่อช่วยครอบครัวทำนา ก่อนที่จะบวชเรียนเป็นสามเณรและสอบเทียบวุฒิ ม.3 เขากล่าวว่าช่วงบวชเป็นสามเณรไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์เลยแต่ก็ไม่มีผลกระทบอะไรมากนักเพราะเขาสนใจที่ศึกษาค้นคว้าเองมากกว่า และด้วยความที่สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าทางธรรมจึงได้ลาสิกขา แล้วเรียนต่อ ม.ปลายที่โรงเรียนลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์



    "เรียนสามเณรก็ไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์เลย สอบเทียบวุฒิการศึกษานอกโรงเรียนแล้วมาเรียนเอาตอน ม.ปลาย ผมเรียนในห้องผมไม่ค่อยได้อะไร ผมได้จากการอ่านเองมากกว่า ช่วง ม.4-5-6 ผมอ่านหนังสือจบก่อนครูสอน ผมเรียนเพราะผมอยากรู้ ผมไม่ได้เรียนเพื่อสอบ ผมไม่สนว่าวันไหนสอบวิชาอะไร ผมสนแค่ว่าวันนี้ผมอยากรู้เรื่องอะไรผมก็อ่านเรื่องนั้น บางวันจะสอบภาษาอังกฤษ ผมยังอ่านฟิสิกส์ เคมีอยู่เลย ถ้าเราเรียนตามใจเราจะมีความสุข และจำไปตลอดชีวิต ในขณะที่เรียนเพื่อสอบ 3 วันก็ลืม

            อย่างสูตรของนิวตัน F=ma เป็นสูตรที่ผมประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าเรารู้หลักการว่าเป็นมาอย่างไร ฟิสิกส์ ม.4 ไม่ต้องทำอะไรเลย ท่องสูตรเดียวนี้จบ แต่ข้อเสียของระบบการศึกษาไทยคือสอนตามสูตร ไม่ได้สอนว่ามีความเป็นมาอย่างไร หลักการอย่างไร สอนแต่ท่องสูตร โจทย์อย่างนั้นต้องทำอย่างนี้ ผลคือเด็กทำคะแนนได้ดีและสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ อันนั้นผมไม่เถียง แต่ว่าใจเขาได้หรือเปล่า ใจเขารักที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์จริงหรือเปล่า ผมอยากให้คนรุ่นใหม่เรียนด้วยใจชอบ
     
                             

     ม้ขัดสนแต่ไม่จนหนทางใฝ่รู้
       แม้จะทางบ้านจะขัดสนในเรื่องเงินทอง แต่ ดร.บุญเฮียงก็ไม่ได้ขาดความกระตือรือร้นที่จะใฝ่หาความรู้ เขาเล่าว่าเมื่อครั้งเรียนประถมญาติซึ่งทำงานเป็นแม่บ้านของผู้มีอันจะกินในเมืองหลวง ก็มักจะขนนิตยสารต่างๆ ที่เจ้าของบ้านไม่ต้องการแล้วกลับมาให้เสมอๆ เขาก็อาศัยเก็บรวบรวมความรู้รอบตัวจากตรงนั้น และจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ก็ตามญาติอีกคนที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่งซึ่งมีความเพียรน้อยกว่าเขามาก ก็ใช้ให้ ดร.บุญเฮียงอ่านตำราเรียนเพื่อญาติคนนั้นจะได้นอนฟัง เหล่านี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความใฝ่รู้ของนักวิจัยแห่งไบโอเทคคนนี้
       
       ด้วยความสนใจและใฝ่รู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เขาจึงสอบรับทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ในระดับปริญญาตรี-โท และโดยพื้นเพเขาจึงต้องเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังเรียนจบก็ได้เข้าทำงานที่ไบโอเทค ก่อนที่จะรับทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพ.ศ.2539 ไปศึกษาต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 3 ปี

       
      
   


แม้ได้ฝันจาก สตาร์วอร์แต่มองเป็นเพียงความเพ้อฝัน
       แม้ว่าจะได้แรงบันดาลใจจากสตาร์วอร์สแต่ ดร.บุญเฮียงมองว่าความใฝ่ฝันวัยเด็กกับปัจจุบันที่เป็นอยู่นั้นแตกต่างกันมาก เขามองว่า สตาร์วอร์ เป็นเรื่องของความเพ้อฝัน ในขณะที่ปัจจุบันคือเรื่องของความเป็นจริง และเขาก็ยังได้แรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวด้วยซึ่งแต่ละคนก็แตกต่างกัน พร้อมยกตัวอย่างต้นข้าวโพดเหี่ยว บางคนอาจไม่สนใจ แต่คงช่างสงสัยก็จะตั้งคำถามว่าเพราะอะไร เป็นเชื้อราหรือไม่ หรือเกิดจากหนอนเจาะราก ซึ่งเวลาสอนเด็กต้องสอนให้รู้จักสังเกตและตั้งคำถาม
       


       สนใจพันธุวิศวกรรมเพราะอยากสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่
       ดร.บุญเฮียงเล่าว่าจุดเปลี่ยนความสนใจทางวิทยาศาสตร์จากที่ใฝ่ฝันจะได้ท่องอวกาศเหมือนในภาพยนตร์กลายเป็นความสนใจทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพนั้น เนื่องจากช่วง ม.ปลายได้ศึกษาเกี่ยวกับพันธุวิศวกรรมแล้วรู้สึกชอบถึงความมหัศจรรย์ที่เราสามารถสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ ได้ตามความต้องการแต่ก็เป็นเพียงความคิดตอนวัยรุ่นเท่านั้น หลังจากได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งก็ทราบว่าเราไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่เพียงแต่ใช้พันธุวิศวกรรมเพียงแปลงสิ่งมีชีวิตเพียงเล็กน้อยก็สร้างประโยชน์ 
  

                                     



   ไม่ต้องสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ แค่เปลี่ยนให้มีประโยชน์ก็พอแล้ว


       ความคิดเกี่ยวกับพันธุวิศวกรรมตอน ม.5-ม.6 ขณะนั้นคือเราอยากสร้างอะไรเราก็สร้างได้ สร้างสิ่งมีชีวิตโดยการเปลี่ยนพันธุกรรมให้ได้สิ่งมีชีวิตตามใจเรา นั่นคือความคิดขณะนั้น พอเรียนต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันเมื่อเข้าใจอะไรลึกซึ้งความคิดก็เปลี่ยนไป พันธุวิศวกรรมในความเข้าใจตอนนี้ไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ เพียงแค่เปลี่ยนบางอย่างเพื่อให้เกิดประโยชน์ก็พอแล้ว

       ทุกวันนี้เขายังคงมุ่งมั่นศึกษาศึกษาโครงสร้างและหน้าที่ของโปรตีนสารพิษจากแบคทีเรีย รวมถึงศึกษากลไกการออก ฤทธิ์ระดับโมเลกุลของโปรตีนฆ่าแมลงจากแบคทีเรีย เพื่อหาวิธีปราบยุงโดยไม่ใช้สารพิษสังเคราะห์ต่อไป โดยจะพัฒนาให้ออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้นซึ่งเป็นจุดด้อยของโปรตีนกำจัดยุงเมื่อเปรียบเทียบกับสารเคมีที่มีขายอยู่ตามท้องตลาด

       ดร.บุญเฮียงคือตัวอย่างของบุคลากรที่มีฝันและได้รับการผลักดันจนประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่ามีเด็กอีกหลายคนได้ก่อร่างความฝันและแรงบันดาลใจที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์เมื่อเติบใหญ่เช่นเดียวกับเขา หน้าที่ของผู้ใหญ่ถัดจากนี้ก็คือการผลักดันความฝันด้านบวกของพวกเขาให้กลายเป็นจริงบนทิศทางที่ถูกต้อง เพื่ออนาคตเราจะได้บุคลากรที่มีทั้งศักยภาพและความสุขในการทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

                           
     คำคมประจำวันนี้คือ  " พรแสวงให้ผลมากกว่าพรสวรรค์ "

                                                 รายการ ดร.ฮีโร่

                                




                    ข้อมูลอ้างอิง http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9490000017629

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ


   ผมมีโอกาสได้เขียนจดหมายทางไปรษณีย์ไปหาบุคคลท่านหนึ่ง ท่านเป็นคนไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกส้รางผลงานมามากมายให้กับประเทศและเป็น  The Idol ของผม
บุคคลท่านนั้นคือ ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิทยาศาสตร์หญิงที่สร้างชื่อให้กับวงการวิทย์ไทย

 ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิทยาศาสตร์หน้าใส ก้าวไกลระดับโลก

                          

   หลายคนอาจจะคิดว่านักวิทยาศาสตร์ระดับด็อกเตอร์ จะมีแต่บุคลิกใส่แว่นตาหนาเตอะเท่านั้น แต่ ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ คือตัวแทนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ๆ ที่จะขอพลิกความเชื่อดั้งเดิมของใครหลายคน ให้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่เพราะเธอคือนักวิทยาศาสตร์หน้าใส ที่มีความสามารถล้นเหลือจนก้าวไกลไปในระดับโลก เพื่อสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้กับคนไทยได้อย่างไม่อายใคร รายการวีไอพี (9 กรกฎาคม) จึงขออาสาพาไปพูดคุยกับสาวอัจฉริยะคนนี้กันครับ

ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ หรือ ดร.ต่าย หัวหน้าห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) คือนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับรางวัลการันตีจำนวนมาก นับตั้งแต่ "รางวัลทุนวิจัยลอรีอัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์" "รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากสภาวิจัยแห่งชาติ ชุดตรวจเชื้อก่อโรคในอาหาร" และ "รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ดีเด่นของประเทศไทย พระราชทานจากพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี" ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นรางวัลในระดับประเทศ

          นอกจากนี้ยังมีรางวัลในระดับโลกอย่าง การได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 43 ตัวแทนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากทั่วโลก เพื่อเข้าร่วมเวทีประชุมวิชาการระดับโลก World Economic Forum (WEF) อีกทั้งยังได้รับเลือกตั้งเป็นตัวแทนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ให้ดำรงตำแหน่งประธานร่วมขององค์กรเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของโลก พร้อมทั้งได้รับเชิญจากผู้แทนพระองค์ราชินีอังกฤษ ในประเทศแคนาดา ให้เป็น 1 ใน 14 คน ที่จะเข้าร่วมเสวนาวิทยาศาสตร์ โดย ดร.นิศรา เป็นตัวแทนคนเดียวจากทวีปเอเชียอีกด้วย

                              
    
 หากย้อนกลับไปในสมัยวัยเยาว์ ดร.นิศรา คือชาวจังหวัดนครสวรรค์ ที่สนใจคณิตศาสตร์ตั้งแต่เด็ก เพราะคุณแม่เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ และคุณพ่อเป็นอาจารย์สอนจิตวิทยาเด็กในมหาวิทยาลัย ซึ่งเน้นการสอนให้รู้จักคิดอย่างมีเหตุมีผล

        ดร.นิศราตั้งใจเรียนในห้อง และตั้งใจฟังครูมาก เพราะเป็นคนไม่ชอบท่องจำ จึงพยายามตั้งใจเรียนให้เข้าใจ อีกทั้งฐานะทางบ้านก็ไม่ได้ร่ำรวย จึงไม่ค่อยได้เรียนพิเศษมากเท่าไหร่ เน้นการถามคุณครูในยามที่ไม่เข้าใจมากกว่า เนื่องจากเป็นคนช่างพูดช่างถาม จึงทำให้เรียนรู้เรื่องและมีผลการเรียนที่ดี

         ทั้งนี้ ดร.นิศรา บอกว่าตนเองมีพี่สาวเป็นแรงบันดาลใจ เพราะพี่สาวเรียนเก่งมาก จึงใฝ่ฝันอยากจะเป็นให้ได้เหมือนพี่สาว ทำให้ตั้งใจเรียนและสอบเทียบข้ามชั้น เพราะอยากสอบเข้าแพทย์ตามพี่สาว ก่อนที่จะมีโอกาสได้สอบชิงทุนรัฐบาลไทยเพื่อไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศ โดยดร.นิศรา เลือกสอบทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ สายวิศวกรรมเคมี กับ ทุนกระทรวงต่างประเทศ สายเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ซึ่งเธอก็สอบผ่านทั้ง 2 ทุน แต่เมื่อต้องเลือกเพียง 1 ทุน ดร.นิศราจึงขอเลือกสายวิทยาศาสตร์อย่างที่ชอบ

                                      
                                        

 ดร.นิศรา ซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียง 16 ปี และได้รับทุนจากรัฐบาลแล้ว ต้องเก็บกระเป๋าหอบสัมภาระเพื่อเดินทางไปเรียนต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ยังไม่เก่งภาษาอังกฤษ จึงมีปัญหาในการปรับตัวช่วงปีแรกอย่างมาก แม้เธอจะตั้งใจเรียนในห้องและพยายามฝึกฝนภาษา แต่การเตรียมตัวสอบวัดผลต่าง ๆ เพื่อเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยอย่างหักโหม ทำให้เธอถึงกับเอ่ยว่าปีนั้นเป็นปีที่หนักที่สุดในชีวิต

         แต่เมื่อมีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ดร.นิศราจึงนำจุดเด่นนี้มาติวให้กับเพื่อน ๆ ต่างชาติ ซึ่งนอกจากจะได้ทบทวนความรู้เพิ่มเติมไปด้วยแล้ว ยังทำให้ได้ฝึกภาษามากขึ้นด้วย เพราะเพื่อน ๆ เองก็ติวภาษาอังกฤษให้เป็นการแลกเปลี่ยนเช่นกัน จนในที่สุด ดร.นิศรา ก็สอบติดมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ 1 ใน 5 ของสหรัฐอเมริกาได้ นั่นก็คือมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเธอตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอยู่ 4 ปี จนจบการศึกษามาด้วยคะแนนสูงที่สุดของคณะวิศวกรรมเคมี ได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับ 1 รวมทั้งมีชื่อจารึกลงบนแผ่นทองคำของมหาวิทยาลัยอีกด้วย ซึ่งดร.นิศรา คือคนไทยคนแรกและคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับเกียรตินี้

         จากนั้น ดร.นิศรา ยังคงไม่หยุดนิ่ง เดินหน้าศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ต่อทันที โดยได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยประหยัดเงินทุนจากรัฐบาลไทยอีกด้วย ในครั้งนี้ ดร.นิศรา ใช้เวลาในการศึกษาอยู่ 5 ปี ก่อนที่จะได้ดีกรีด็อกเตอร์มาครอบครองได้สำเร็จ


         แม้ว่าการเรียนจบมาด้วยคะแนนสูงและมีความสามารถล้นเหลือ จะทำให้ดร.นิศรา ได้รับการติดต่อทาบทามเพื่อให้ไปร่วมงานด้วยทั้งจากองค์กรในประเทศไทยและต่างชาติ แต่ ดร.นิศรา กลับเลือกที่จะกลับมาใช้ความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมานับ 10 ปี ด้วยเงินทุนของรัฐบาลและภาษีของประชาชนชาวไทย เพื่อทำงานตอบแทนประเทศชาติ

                            

      โดย ดร.นิศรา บอกว่า แม้การชดใช้ทุนจะมีข้อกำหนดให้สามารถชดใช้เป็นตัวเงินได้ แต่ตนเองก็ยังคงเชื่อมั่นว่า การใช้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาเพื่อตอบแทนภาษีประชาชนคือสิ่งที่คุ้มค่ามากกว่า เพราะรัฐบาลเองคงไม่ได้ต้องการเงินคืน มากเท่ากับการสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถเพื่อมาช่วยพัฒนาประเทศ ดังนั้นหากตนเองคืนทุนเป็นจำนวนเงิน รัฐบาลก็จะต้องไปเสียเวลาสร้างคนที่มีความสามารถขึ้นมาใหม่ เสียเวลาไปอีกนับ 10 ปี พร้อมทั้งยังต้องแบกรับความเสี่ยงไว้อีกด้วย

       
                           
      ดร.นิศรา จึงเลือกที่จะทำงานอยู่ในองค์กรของรัฐบาลเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พร้อมรับผิดชอบด้านการวิจัยพันธุ์กุ้งกุลาดำ สัตว์เศรษฐกิจที่มีมูลค่าการส่งออกสูง ซึ่งมักมีปัญหาในการเจริญเติบโต เนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาด โดยมีการเขียนโครงการเพื่อขอเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศเพื่อทำการวิจัยร่วมด้วย อีกทั้งยังเป็นหัวหน้าทีมวิจัย ที่มหาวิทยาลัยควีน ในประเทศอังกฤษ โดยใช้ทุนวิจัยจากสหภาพยุโรป และในปัจจุบันเธออยากสร้างเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์เพื่อให้ก้าวไปในเวทีระดับโลกให้มากขึ้นด้วย

คำคมในวันนี้คือ  Push the limit. การก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง อาจทำให้เราประสบผลสำเร็จได้อย่างไม่น่าเชื่อ



                  รายการ The Idol คนสร้างแรงบันดาลใจ

















                                                     


               ข้อมูลอ้างอิง http://hilight.kapook.com/view/73550